อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ก่อนตัดสินใจนำไอศกรีมที่ผลิตออกจำหน่ายคือ การนำไอศกรีมเข้าไปตรวจสอบคุณภาพและเช็คคุณสมบัติต่างๆ ว่าได้มาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งหลักๆ แล้ว การตรวจสอบคุณภาพไอศกรีมจะตรวจสอบสิ่งต่อไปนี้
- วัตถุดิบ ตรวจสอบว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตมีคุณภาพและปราศจากสารปนเปื้อน
- กระบวนการผลิต ตรวจสอบความสะอาดของโรงงาน เครื่องจักร และอุปกรณ์ รวมถึงตรวจสอบอุณหภูมิในการผลิตและการเก็บรักษา
- ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพ กลิ่น รสชาติ และปริมาณสารอาหารต่างๆ
- ฉลาก การระบุข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยต้องมีการแจ้งบอกส่วนประกอบ วันหมดอายุ วิธีการเก็บรักษา
สำหรับประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคุณภาพของอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งหน่วยงานหลักๆ มีดังนี้ค่ะ
1.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
คุ้นเคยที่สุดก็คือ “อย.” หรือ เรียกแบบเต็มๆ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและข้อกำหนดในการผลิตอาหาร รวมถึงไอศกรีม โดยจะดำเนินการตรวจสอบโรงงานผลิตอาหาร รวมถึงโรงงานผลิตไอศกรีม เพื่อตรวจสอบว่ากระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ จากนั้นจึงออกใบอนุญาตผลิตอาหารให้แก่โรงงานที่ผ่านการตรวจสอบ
นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนสำคัญในการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัยและเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฎ
2. กรมวิทยาศาสตร์บริการ
หลายคนสงสัยว่า หน่วยงานนี้เกี่ยวข้องด้วยอย่างนั้นหรือ March Cool ขอแจ้งตรงนี้เลยว่า เกี่ยวข้องมากๆ เพราะทำหน้าที่ในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพของอาหาร รวมถึงไอศกรีมที่ต้องการออกจำหน่าย โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการจะดำเนินการวิเคราะห์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อตรวจสอบปริมาณสารเคมี เชื้อจุลินทรีย์ และสารปนเปื้อนอื่นๆ
3. องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)
ในกรณีที่กิจการของคุณเดินหน้าไปด้วยดี หรือมีแผนจะขยายกิจการไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา หน่วยงานนี้เกี่ยวข้องสุดๆ เพราะมีไว้สำหรับผลิตภัณฑ์ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ ดังนั้นหากมีการส่งออกไอศกรีมไปยังสหรัฐอเมริกา ผลิตภัณฑ์จะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองจาก FDA ก่อนเสมอ
ส่วนในกรณีที่ต้องการส่งไปยังประเทศอื่นๆ จะต้องผ่านการรับรองจาก หน่วยงานควบคุมอาหารและยาของประเทศปลายทางนั้นๆ ซึ่งไอศกรีมจะต้องผ่านการตรวจสอบเอกสารและตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม เมื่อสินค้าถึงประเทศปลายทาง
ทั้งนี้ ยังมีองค์กรรับรองมาตรฐานสากล : เช่น ISO, HACCP ที่หากได้รับการรับรองจากองค์กรเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ
4. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
สำหรับการส่งขายเฉพาะในประเทศ ผลิตภัณฑ์ของคุณจะต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบสถานประกอบการผลิตและจำหน่ายอาหารในพื้นที่ รวมถึงบริเวณตลาดและร้านค้าที่จำหน่ายอาหาร