

March Cool ได้ให้ความรู้เรื่องการจดทะเบียนโลโก้ไปแล้วในบทความ ห้ามพลาด! จดทะเบียนโลโก้ ทำตามนี้ไม่ยุ่งยาก มาในครั้งนี้ ข้อมูลยังไม่หมด แต่เป็นเชิงกฎหมายที่ใครก็ตามที่มี โลโก้ หรือ เครื่องหมายการค้า เป็นของตัวเอง ควรตระหนักว่า นี่คือทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญสำหรับธุรกิจ ดังนั้นการใช้โลโก้จึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าของโลโก้และป้องกันการละเมิด
เริ่มจากกฎหมายหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้โลโก้ คือ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนและคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย โดยสิ่งที่กฎหมายคุ้มครอง ได้แก่
สิทธิในการใช้แต่เพียงผู้เดียว หมายถึง เมื่อจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว เจ้าของจะมีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายนั้นแต่เพียงผู้เดียว
ป้องกันการลอกเลียนแบบ หมายถึง ห้ามมิให้บุคคลอื่นนำเครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายคลึงไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค หมายถึง การทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน
ส่วนสิ่งที่กฎหมายห้าม มีดังนี้
- ห้ามใช้เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับเครื่องหมายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
- ห้ามใช้เครื่องหมายที่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ เช่น ชื่อประเทศ จังหวัด อำเภอ เป็นต้น
- ห้ามใช้เครื่องหมายที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเป็นการดูหมิ่นผู้อื่น
และถ้าสงสัยว่า หากละเมิดข้อห้ามต่างๆ จะโดนโทษอะไรบ้าง คำตอบคือ เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่ละเมิด และศาลอาจสั่งให้ผู้ที่ละเมิดระงับการกระทำที่ละเมิดสิทธิ์ แต่ถ้าร้ายแรงสุดๆ คือ ถูกดำเนินคดีอาญา